เราควรเรียนรู้และจัดทำงบการเงินส่วนบุคคลกัน เพื่อให้ทราบสถานะทางการเงินของตนเอง จะได้รู้ว่าเรามีหนี้สินมากกว่ารายได้ หรือมีเงินเหลือมากพอที่จะนำไปต่อยอดได้ อีกทั้งการจัดทำงบการเงินส่วนบุคคลก็ไม่ต่างจากงบการเงินของบริษัท เราสามารถนำตัวเลขมาวิเคราะห์หาอัตราส่วนการเงินส่วนบุคคลต่อได้
อัตราส่วนการเงินส่วนบุคคลที่ควรรู้ มีดังนี้
1. อัตราส่วนการออม (Saving Ratio) ... เป็นอัตราส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเก็บออมของเรา ยิ่งอัตราสูงยิ่งดี เพราะเราจะมีเงินเก็บมากขึ้น คำนวณโดยนำเงินที่เราออมได้แล้วหารด้วยรายได้ ค่าที่ได้ อย่างน้อยต้องไม่ควรต่ำกว่า 10% อีกทั้งควรศึกษาเรื่องการลงทุนไว้ด้วยเพื่อให้เงินออมมีผลตอบแทนที่มากขึ้นพอใช้ในยามเกษียณ
2. อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Leverage Ratio) ... เป็นอัตราส่วนที่แสดงถึงความสามารถชำระหนี้ของเราจากรายได้ต่อเดือน โดยพิจารณาจากเงินเดือนเท่านี้ มีหนี้ที่ต้องชำระต่อเดือนเท่าไหร่ โดยปกติอัตราส่วนนี้ไม่ควรมีค่าเกิน 0.4 หรือหมายความว่า ไม่ควรมีหนี้เกิน 40% ของรายได้
3. อัตราส่วนความมั่งคั่ง (Wealth Ratio) ... อัตราส่วนนี้คำนวณได้จากรายได้ที่มาจากสินทรัพย์โดยไม่ต้องทำงาน (passive income) หารด้วยค่าใช้จ่ายต่อเดือน หากผลลัพธ์มากกว่า 1 แสดงว่าเรามีอิสรภาพทางการเงินแล้ว มีรายได้เพียงพอใช้จ่ายในแต่ละเดือน แต่หากน้อยกว่า 1 ก็พยายามเพิ่ม passive income ให้มากขึ้น
สิ่งสำคัญของการเงินส่วนบุคคล ก็คือการที่เราต้องมีวินัยในการออม การมีวินัยจะช่วยทำให้เราทำสิ่งต่างๆได้ตามที่เราตั้งเป้าหมายไว้ และอย่าลืมเรื่องความรู้คู่กับการลงทุน จะช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับเราได้มากขึ้น
Comments